วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

นกมูลไถ

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๙
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
๘. สกุณัคฆิชาดก
ว่าด้วยเหยี่ยวนกเขา
             [๑๘๕]  เหยี่ยวนกเขาบินโผลงด้วยกำลัง หมายใจว่า จะเฉี่ยวเอานกมูลไถ ซึ่ง
                          จับอยู่ที่ชายดงเพื่อหาเหยื่อ โดยฉับพลัน เพราะเหตุนั้น จึงถึงความตาย.
             [๑๘๖]  เรานั้น เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอุบาย ยินดีแล้วในโคจรอันเนื่องมาแต่บิดา
                          เห็นอยู่ซึ่งประโยชน์ของตน จึงหลีกพ้นไปจากศัตรู ย่อมเบิกบานใจ.
จบ สกุณัคฆิชาดกที่ ๘.
อรรถกถา สกุณัคฆิชาดก
ว่าด้วย เหยี่ยวนกเขา
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภ พระสูตรว่าด้วยโอวาทของนก อันเป็นพระอัธยาศัยของพระองค์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า เสโน พลสา ปตมาโน ดังนี้.
               ความพิสดารมีอยู่ว่า วันหนึ่งพระศาสดาตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย แล้วตรัสพระสูตรในมหาวรรคสังยุตต์นี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวไปในโคจรอันเป็นวิสัยของบิดาของตน แล้วตรัสว่า พวกเธอจงยกไว้ก่อนเถิด เมื่อก่อนแม้เดียรัจฉานทั้งหลายก็ละวิสัยของตน แล้วเที่ยวไปในที่เป็นอโคจร ไปสู่เงื้อมมือของข้าศึก แต่รอดจากเงื้อมมือข้าศึกได้ ก็ด้วยความฉลาดในอุบาย เพราะตนมีปัญญาเป็นสมบัติ แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาเล่า.
               ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดนกมูลไถ อาศัยอยู่ในก้อนดินที่ทำการไถ. วันหนึ่ง นกมูลไถนั้นละถิ่นที่หากินเดิมของตนไปท้ายดง ด้วยคิดว่า จักหาอาหารในถิ่นอื่น ครั้งนั้น เหยี่ยวนกเขาเห็นนกมูลไถกำลังหาอาหารอยู่ จึงโฉบจับเอามันไป. เมื่อมันถูกเหยี่ยวนกเขาพาไป จึงคร่ำครวญอย่างนี้ว่า เราเคราะห์ร้ายมาก มีบุญน้อย เราเที่ยวไปในที่อโคจรอันเป็นถิ่นอื่น ถ้าวันนี้ เราเที่ยวไปในที่โคจรอันเป็นถิ่นบิดาของตนแล้ว เหยี่ยวนกเขานี้ไม่พอมือเราในการต่อสู้. เหยี่ยวนกเขาถามว่า ดูก่อนนกมูลไถ ที่หาอาหารอันเป็นถิ่นบิดาของเจ้าเป็นอย่างไร. นกมูลไถตอบว่า คือที่ก้อนดินคันไถน่ะซิ. เหยี่ยวนกเขายังออมกำลังของมันไว้ จึงได้ปล่อยมันไปโดยพูดว่า ไปเถิดเจ้านกมูลไถ แม้เจ้าไปในที่นั้น ก็คงไม่พ้นเราดอก. นกมูลไถบินกลับไปในที่นั้น ได้ขึ้นไปยังดินก้อนใหญ่ ยืนท้าเหยี่ยวว่า มาเดี๋ยวนี้ซิเจ้าเหยี่ยวนกเขา. เหยี่ยวนกเขามิได้ออมกำลังของมัน ลู่ปีกทั้งสองโฉบนกมูลไถทันทีทันใด. ก็เมื่อนกมูลไถรู้ว่าเหยี่ยวนี้มาถึงเราด้วยกำลังแรง จึงบินหลบกลับเข้าไปในระหว่างก้อนดินนั้นเอง. เหยี่ยวไม่อาจยั้งความเร็วได้ จึงกระแทกอกเข้ากับก้อนดินในที่นั้นเอง เหยี่ยวอกแตกตาถลนตายทันที.
               พระศาสดา ครั้นทรงแสดงเรื่องในอดีตนี้แล้ว จึงตรัสว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้สัตว์เดียรัจฉานเที่ยวไปในที่อโคจรอย่างนี้ ยังถึงเงื้อมมือข้าศึก แต่เมื่อเที่ยวไปในถิ่นหาอาหาร อันเป็นของบิดาของตน ก็ยังข่มข้าศึกเสียได้ เพราะฉะนั้น แม้พวกเธอก็จงอย่าเที่ยวไปในอโคจรซึ่งเป็นแดนอื่น
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อพวกเธอเที่ยวไปในอโคจรอันเป็นแดนอื่น มารย่อมได้ช่อง มารย่อมได้อารมณ์
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อโคจรอันเป็นแดนอื่นของภิกษุคืออะไร คือกามคุณห้า
               กามคุณห้าเป็นไฉน กามคุณห้า คือ
                         รูปที่รู้ได้ด้วยตา ๑
                         เสียงที่รู้ได้ด้วยหู ๑
                         กลิ่นที่รู้ได้ด้วยจมูก ๑
                         รสที่รู้ได้ด้วยลิ้น ๑
                         โผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย ๑
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นอโคจรเป็นแดนอื่นของภิกษุ

               เมื่อทรงบรรลุอภิสัมโพธิญาณแล้ว จึงตรัสคาถาแรกว่า :-
               เหยี่ยวนกเขาบินโผลงด้วยกำลัง หมายใจว่าจะเฉี่ยวเอานกมูลไถ ซึ่งจับอยู่ที่ท้ายดง เพื่อหาเหยื่อโดยฉับพลัน เพราะเหตุนั้น จึงถึงความตาย.


               ในบทเหล่านั้น บทว่า พลสา ปตมาโน ความว่า เหยี่ยวโผลงด้วยกำลัง คือด้วยเรี่ยวแรงด้วยคิดว่า จักจับนกมูลไถ. บทว่า โคจรฏฺฐานิยํ ความว่า เหยี่ยวโฉบเอานกมูลไถ ซึ่งออกจากแดนของตน เที่ยวไปท้ายดงเพื่อหาอาหาร. บทว่า อชฺฌปฺปตฺโต ได้แก่โผลง. บทว่า เตนุปาคมิ ได้แก่ เหยี่ยวถึงแก่ความตายด้วยเหตุนั้น.

               ก็เมื่อเหยี่ยวตาย นกมูลไถจึงออกมายืนบนอกของเหยี่ยว ด้วยมั่นใจว่าเราชนะข้าศึกได้แล้ว เมื่อจะเปล่งอุทาน จึงกล่าวคาถาที่สองว่า :-
               เรานั้นเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอุบายยินดีแล้ว ในโคจรอันเนื่องมาแต่บิดา เห็นอยู่ซึ่งประโยชน์ของตน จึงหลีกพ้นไปจากศัตรู ย่อมเบิกบานใจ.


               ในบทเหล่านั้นบทว่า นเยน ได้แก่อุบาย. บทว่า อตฺถมตฺตโน ได้แก่ ความเจริญ กล่าวคือความปลอดภัยของตน.

               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจธรรม ทรงประชุมชาดก เมื่อจบสัจธรรม ภิกษุเป็นอันมากบรรลุโสดาปัตติผล เป็นต้น.
               เหยี่ยวในครั้งนั้น ได้เป็น เทวทัต ในบัดนี้
               ส่วนนกมูลไถ คือ เราตถาคต นี้แล.
.. อรรถกถา สกุณัคฆิชาดก จบ.
 

From: MaiY
Sent: Tuesday, 03 May, 2011 8:50 PM
Subject: {นานาสาระ ธรรมะสวัสดี: ฉบับที่ 8908} คำถาม นกมูลไถ


ธรรมดาของสัตว์โลกทุกชนิด ผู้มีกำลังย่อมกดขี่ข่มเหง เอารัดเอาเปรียบผู้อ่อนแอกว่า แต่ถ้าผู้อ่อนแอกว่าใช้สติปัญญา ใช้ไหวพริบปฏิภาณ ย่อมสามารถพิชิต ผู้มีกำลังมากกว่าได้ ดังนิทานเรื่องต่อไปนี้ ซึ่งมาใน "สกุณมิคชาดก ทุกนิบาต"
 



ณ ทุ่งกว้างแแห่งหนึ่ง นกมูลไถตัวหนึ่งหากินอยู่ตามมูลไถที่เขาไถไว้ ได้รับความสุขและความปลอดภัยด้วยดีเสมอมาเป็นเวลาช้านาน แต่เมื่อเนินนานไปนกมูลไถเริ่มเบื่อกับความจำเจ คิดอยากไปหาประสบการณ์ที่อื่น ๆ บ้าง ตามประสาผู้อยากรู้อยากเห็น

"เอ้อ ... เราหากินอยู่ที่นี่ก็นานค่อนชีวิตแล้ว เราน่าจะไปหากินยังที่อื่น ๆ บ้าง เผื่อจะอุดมสมบูรณ์กว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ อยู่อย่างนี้มันไร้รสชาติสิ้นดี"

เมื่อคิดเช่นนั้นแล้ว เจ้านกมูลไถก็ย้ายทำเล หากินของตนไปยังที่อื่นทันที โดยลำพัง เพราะความอยากรู้อยากสัมผัสบรรยากาศใหม่ ๆ บินมาได้ไกลพอสมควร เจ้านกมูลไถเห็นที่โล่งแห่งหนึ่งอาหารชุกชุม ถึงได้ถลาลงหากินอย่างเพลิดเพลิ


วัน แรกผ่านไปด้วยดี แต่เหตุร้ายก็มาเยือน พอในวันที่สอง ขณะที่นกมูลไถหากินอยู่นั้น เหยี่ยวตัวหนึ่งโฉบลงมาจิกตัวมันไป โดยมี่นกมูลไถไม่มีโอกาสได้ป้องกันตัวเลย เพราะความไม่ชำนาญพื้นที่ มันจึงร้องคร่ำครวญด้วยความเสียใจว่า

"โอ้ ... เรานี่ช่างบุญน้อยเสียจริง เรารักษาตัวไม่รอดเพราะมาหากินต่างถิ่น ถ้าเรายังหากินยังถิ่นของเรา เราคงไม่ถูกทำร้ายเช่นนี้แน่"

"เจ้าหากินอยู่ที่ไหน..." เหยี่ยวได้ฟังนกมูลไถคร่ำครวญ จึงถามอย่างใคร่รู้

"เราหากินตามมูลไถ ยังชายเมืองโน่น และไม่เคยมีใครมาทำร้ายเราได้เลย แม้แต่พวกท่าน" นกมูลไถเห็นโอกาสที่จะรอดพ้นจากความตาย จึงกล่าวทำนองว่าถ้าแน่จริงก็ปล่อยข้าแล้วไปไล่จับยังถิ่นข้าสิ

"เจ้าคิดว่่าเจ้าอยู่ยังถิ่นของเจ้าจะพ้นเงื้อมมือข้าเรอะ ข้าจะปล่อยเจ้าไปแล้ววันหน้าข้จะไปตามล่าเจ้า แล้วเจ้าจะรู้ว่าเจ้าคิดผิด เพราะลำพังแค่ขี้ไถจะช่วยอะไรเจ้าได้ ฮ่า ๆๆๆ..." เหยี่ยวกล่าวอย่างมั่นใจในศักยภาพของตัวเองแล้วปล่อยนกมูลไถไป


นก มูลไถ เมื่อรอดตายก็รีบบินกลับยังภูมิลำเนาเดิมของตนทันที และก็ไม่คิดที่จะไปหากินที่อื่นอีกเลย มันจะหากินด้วยความระมัดระวัง เพราะเกรงว่าเหยี่ยวจะโฉบจิกเอาไปเป็นเหยื่อ

และแล้ววันหนึ่ง ขณะที่นกมูลไถกำลังหากินอยู่นั้น พลันสายตาก็เหลือบไปเห็นเหยี่ยวตัวที่เคยจับตน กำลังบินโฉบ บินร่ิอนอยู่ จึงร้องทักทายว่า

"เฮ้ย ... เจ้าเหยี่ยว ข้ออยุ่นี่ ครั้งก่อนข้าพลาดถูกเจ้าจับกินนอกถิ่น ถ้าเจ้าแน่จริง ก็จับข้าให้ได้เร็ว ๆ ข้าจะรอ ..."

"บังอาจ !... เจ้ากล้าท้าทายเราเรอะ ไอ้กระจอก เตรียมตัวตายได้เลย " เหยี่ยวได้ยินคำร้องท้าทายจากนกมูลไถตัวเล็ก ๆ กโมโหโกรธ จึงตวาดไปแล้วก็รีบถลาลงมาอย่างรวดเร็ว

นก มูลไถระวังตัวอยู่แล้ว มันจึงหลบลงไปตามก้อนดินที่เขาไถไว้ เหยี่ยวไม่ได้ระวังตัว หุบปีกทั้งสองข้างดิ่งลงมาอย่างรวดเร็ว ด้วยหมายจะพิฆาตนกมูลไถ จึงหลบไม่ทัน หน้าอกกระแทกก้อนดินอย่างแรง จนอกแตกตายคาที่

นกมูลไถ เมื่อเห็นตัวปลอดภัยดีแล้ว จึงออกมาจากที่ซ่อน แล้วจึงกล่าวอย่างผู้มีชัยว่า

"อย่า คิดว่าเจ้ามีกำลังมากกว่า แล้วจะรังแกผู้ด้อยกว่าได้เสมอไป หากผู้มีกำลังด้วยกว่าใช้สติปัญญา อย่างรอบคอบ ก็อาจจะเอาชนะได้เช่นกัน"

มาชาติสุดท้าย เหยี่ยว ได้เกิดมาเป็นพระเทวทัต ส่วนนกมูลไถ ได้มาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คนที่มีกำลังเข้มแข็ง แต่หากหยิ่งทรนง ย่อมจะพบกับภัยพิบัติมากกว่าจะพบความสำเร็จ จงเข้มแข็ง แต่อย่าแข็งกระด้าง จงอ่อนน้อม แต่อย่าอ่อนแอ

คำถาม พระพุทธเจ้าท่านทรงนำเรื่องนี้มาสอนภิกษุเรื่องอะไร


ผู้ได้คะแนน
1. คุณรักธรรม ส่ง 3 เวลา 21.31 เดิม 0 เพิ่ม 4 รวม 4 คะแนน
2. คุณ nat ส่ง 3 เวลา 21.50 เดิม 0 เพิ่ม 3 รวม 3 คะแนน
3. คุณพุทธนาวี ส่ง 4 เวลา 1.57 เดิม 0 เพิ่ม 2 รวม 2 คะแนน
4. คุณนนทไชย ส่ง 4 เวลา 11.28 เดิม 6 เพิ่ม 1+2 รวม 9 คะแนน
-- 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น