วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

“ขันติ”


. ท่านผู้อ่านทุกท่าน เรื่องของ “ขันติ” นี่ เราได้ยินกันเสมอ เราแปลว่า “ความอดทนๆ” อดทนอะไร อาตมาก็จะสรุปเพื่อให้ท่านผู้ชมได้จำได้ว่า “ขันติ” นี่ใช้กับ “๒ อา” คือ
. . . . . . ๑. ใชักับอาชีพ
. . . . . . ๒. ใช้กับอารมณ์

. . . . . . “อาชีพต้องมีขันติ” “เรื่องอารมณ์ต้องมีขันติ” ดังนั้น การใช้ภายในกับภายนอก ไม่เหมือนกัน

. . . . . . ข้อแรกที่สุด เรื่องอาชีพ “ต้องเพียรขยัน และขันอาสา” ถ้าเรามีอาชีพอยู่แล้ว “เพียรขยัน” ไป แต่ถ้า บ้านเมืองสังคม ต้องการความช่วยเหลือก็ “ขันอาสา” ที่เขาเรียกว่า “เสนอหน้า” เข้าไปช่วยเหลือ กิจกรรมอันนั้น ด้วยความอดทน ดังนั้น เรื่องของอาชีพนั้น ต้อง “เพียรขยัน ขันอาสา เพียรขยัน ขันอาสา” จึงเป็น “ขันติ”
. . . . . . คราวนี้ “อารมณ์” ล่ะ อารมณ์อย่างไร เรียกว่า “ขันติ” จึงจะสามารถบำเพ็ญ ขันติธรรม อยู่ได้ ดังนั้น เมื่อ “อาชีพ เพียรขยัน ขันอาสา” แล้ว อารมณ์ก็ต้อง “สร้างอารมณ์ขำ กรรมของตน ผลของโกรธ ประโยชน์ของเมตตา รักษาคุณธรรม บำเพ็ญบารมี”
. . . . . . “ถ้าเราโกรธ” ลองหักอารมณ์ดู หาอะไรขำๆ มาคิด มาพูด มาฟัง บางทีมันหายโกรธ เหมือนกัน ดังนั้น การที่จะกำจัดความโกรธ ให้มันมีขันติได้ มันต้องเป็นคนมีอารมณ์ขำ หรือไปหาอารมณ์ขำๆ มาฟัง แล้วความโกรธ จะหายไป ตอนนี้ถ้าไม่เกิดอารมณ์ขำล่ะ เราไม่มีอารมณ์ขัน ก็พิจารณาว่า “เออ…บางทีคนไม่ชอบใจ…” ก็ “กรรมของตน” บางทีเจอะหน้ากัน ไม่ชอบกัน อาจจะเป็นกรรม ที่เราเคยผูกพัน กันมาก็ได้ แล้วมันแก้ไม่หาย ถ้าพิจารณาว่า เป็นกรรมของตนแล้วบางทีก็หาย
. . . . . . ดังนั้น เมื่อพระพุทธเจ้า ถูกพระเทวทัต ทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า พระพุทธเจ้าพิจารณาว่า “กรรมของเรา” ถูกเขากลิ้งหินมาทับ ก็บอก “กรรมของพระองค์” คือถ้าเราคิดว่า กรรมของเราแล้ว ก็จะหายโกรธ หักโกรธ หายโกรธได้ กลายเป็นขันติธรรม คราวนี้ถ้า ๒ อย่างยังไม่ได้ เราก็พิจารณา ให้หนักขึ้นไปอีก ปัญญาเลยเข้าไปอีก “ผลของโกรธ” โกรธมีผลมาก ต่อสุขภาพของเรา ต่อหน้าที่การงาน ต่อความสัมพันธ์ ถ้าเราโกรธเสียแล้ว เสียหายมาก ดังนั้นโกรธ ก็ให้โกรธแบบฟ้าคือ “โกรธด้วยเมตตา” อย่างนั้นเขาเรียกเป็น “อุบายวิธี” แต่ผลของ ความโกรธนี่มีผลเสียหายมาก
. . . . . . คราวนี้ถ้าผลของโกรธแล้ว เรายังรักษาขันติไม่ได้ ก็ “ประโยชน์ของเมตตา” เมื่อไม่เห็นถึงผลของ ความโกรธ ก็คิดถึงประโยชน์ของเมตตาว่า “เมตตานั้น มีประโยชน์มาก เมตตาเป็นน้ำ ได้ความสามัคคี เมตตาเป็น อะไรทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นความเย็น เป็นความไว้วางใจ”
. . . . . . คราวนี้ ถ้าไม่เห็นประโยชน์ ของเมตตา การรักษาขันติ ก็ถือว่าเป็นการ “บำเพ็ญบารมี” เพราะขันติธรรม เป็นหนึ่งในทศบารมี
. . . . . . และสุดท้ายเลย นอกจากประโยชน์ ของเมตตา แล้วก็ถือเป็นการ “บำเพ็ญบารมี” แล้วก็เป็นการรักษา คุณธรรมอีกประการหนึ่ง เพราะฉะนั้น ทั้งหมดนี่ ท่านทั้งหลาย เรื่องของ “ขันติ” นั้นต้องมีทั้งใน “อาชีพ” และ “อารมณ์” ตามลำดับว่า
. . . . . . เพียรขยัน
. . . . . . ขันอาสา
. . . . . . อารมณ์ขำ
. . . . . . กรรมของตน
. . . . . . ผลของโกรธ
. . . . . . ประโยชน์ของเมตตา
. . . . . . รักษาคุณธรรม
. . . . . . บำเพ็ญบารมี
. . . . . . ถ้าอย่างนี้ล่ะก็ บำเพ็ญ “ขันติ” ได้แน่นอน
ที่มา  ::  พระราชวิจิตรปฏิภาณ “เจ้าคุณพิพิธ”
วัดสุทัศนเทพวราราม
-- 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น